วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สิทธิมนุษยชน


สิทธิมนุษยชน (Human Rights)

            สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีสิทธิที่กฏหมายกำหนดและสิทธิที่ไม่ระบุไว้เป็นกฏหมาย

ความหมายของสิทธิมนุษยชน
หมายถึง สิทธิที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในส่วนบุคคลและสิทธิในการอยู่ร่วมกันในสังคม สิทธิในความเป็นมนุษย์นั้น มีทั้งสิทธิตามกฏหมายและสิทธิที่มีอยู่โดยไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฏหมาย แต่เป็นสิทธิที่เกิดจากมาตรฐานเพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม แต่เดิมสิทธิมนุษยชนจะกล่าวถึงในชื่ออื่น เช่น สิทธิในธรรม สิทธิในธรรมชาติ เป็นต้น

สิทธิมนุษยชนจะครอบคลุมสิทธิต่างๆ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตที่ดีในสังคมดังนี้

            -สิทธิในชีวิต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่วาจะเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชรา ฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรปฏิบัติต่อบุคคลด้อยโอกาส ให้ความสำคัญ ให้โอกาสและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เพื่อให้ทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด
            -สิทธิในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง คนในสังคมต้องให้โอกาสกับคนที่เคยกระทำไม่ถูกต้อง ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้รับการอบรมแก้ไขและพัฒนาตนเองใหม่ ให้สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น
            -สิทธิในการยอมรับนับถือ หมายถึง การที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกันด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตด้วยความเท่าเทียมกัน


            ประเทศไทยได้เข้าร่วมรับรอง "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ดังนั้นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนตระหนักในความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และเป็นแนวทางปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิในชีวิต มีสิทธิในการยอมรับนับถือ และมีสิทธิในการดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง


บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

            -เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
            -ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสมอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
            -ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
            -ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน

สรุปได้ว่า ทุกคนมีสถานภาพและบทบาทของตนเอง บุคคลต้องแสดงบทบาทให้สอดคล้องประสานกับสถานภาพของตนเอง
นอกจากนี้ทุกคนยังมีสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ต้องปฏิบัติซึ่งกฎหมายจะกำหนดไว้ ทุกคนควรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อจะได้ปกป้องคุ้มครองตนเองและผู้อื่นให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข


การละเมิดสิทธิมนุษยชน
            แม้ว่าจะได้มีการให้สัตยาบันตามปฏิญญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองพลเมืองในแต่ละประเทศให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกันก็ตาม ก็ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เช่น หลายประเทศยอมให้มีการตรวจสอบ ว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในประเทศของตน เช่น อิสราเอลที่ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหลายประเทศจากการสำรวจเมื่อปี 1994 องค์กรเอกชนที่มีชื่อว่า Amnesty International (องค์การอภัยโทษนานาชาติ) พบว่าในปี ค.ศ1993 นั้นใน 53 ประเทศมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก กล่าวคือ มีการกักขังนักโทษทางการเมือง หรือที่ขยายความให้มีขอบข่ายกว้างขวางมากกว่าเดิมคือ นักโทษแห่งจิตสำนึกที่แตกต่างออกไป มีเกินกว่า 1,000,000 คน ที่เสียอิสรภาพโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือไม่นำขึ้นไปสู่การพิพากษาในศาลสถิตยุติธรรม


        ตัวอย่างในยุโรปคือ การสังหารโหดในบอสเนีย เฮอร์เซโกวินาจนต้องแยกออกมาจากยูโกสลาเวีย ในปี ค.ศ.1992 มีประชากร 4.6 ล้านคน เป็นคนมุสลิม ร้อยละ 44 ชาวเซอร์บ ร้อยละ 31 ชาวโครท ร้อยละ 17 นอกจากนั้นเป็นเชื้อชาติอื่น (ประเด็นการสู้รบคือ ชาวเซอร์บต้องการสร้างรัฐอิสระเชื้อชาตินิยมขึ้นมา)
ในทวีปเอเชียนั้นได้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีจำนวนประชากรมาก (จีนมีมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก 1200 ล้านคน ) อันดับสอง คือ อินเดีย ประมาณ 950 ล้านคน


        ตัวอย่างในกัมพูชา อัฟกานิสถาน จีน อินโดนีเซีย (กรณีติมอร์ตะวันออก)
ในอินเดียมีปัญหาศาสนาในแคชเมียร์และปันจาบ ส่วนในพม่า หรือเมียนม่า (Myanmar) มีปัญหากับชนกลุ่มน้อย 27 กลุ่ม
ในกลุ่มประเทศอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็มีปัญหามาก เช่น ในบราซิล เอลซัลวาดอร์ เปรู เม็กซิโก และคิวบา
นอกเหนือจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลหรือกลุ่มทางสังคมและการเมืองแล้วยังมีการละเมิดภายในครอบครัว และกลุ่มหรือหน่วยทางเศรษฐกิจอีกด้วย ภายในครอบครัวมีกรณีการละเมิดสิทธิเด็ก หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือบังคับให้ทำงานมากเกินขอบเขตในโรงงานต่างๆ ก็มีปรากฏอยู่เสมอ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในโรงงานของคนไทยในมลรัฐแคลิฟอเนีย และผู้ตกเป็นเหยื่อคือคนไทยด้วยกันเอง


สิทธิมนุษยชนของผู้ใช้แรงงาน
            โลกทุกวันนี้ก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ได้เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน ทุนนิยมโลกพัฒนาจากทุนนิยมผูกขาดในอาณาเขตของประเทศหนึ่ง มาสู่ทุนนิยมครอบโลกที่มีบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สามารถแผ่ขยายอิทธิพลไปทุกขอบเขตของทุกประเทศได้อย่างง่ายดาย เสมือนหนึ่งโลกนี้ไร้พรมแดนหรือปราศจากอาณาเขต

            การแข่งขันการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างดุเดือด กระแสเสรีนิยมใหม่และการค้าเสรีกลายเป็นกระแสหลักที่ทะลุทะลวงไปทุกแห่งหน แต่ละประเทศกำลังไล่ล่าและไล่กวดแสวงหาความได้เปรียบหรือความเหนือกว่า เพื่อความยิ่งใหญ่และเพื่อการครอบครองโลกในทุกมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม

            "โลกาภิวัฒน์" ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนของบรรษัทข้ามชาติ และทำให้ประเทศต่างๆ มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน องค์กรโลกบาล อย่างเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และองค์การค้าโลก ถูกกำหนดและบงการโดยบรรษัทข้ามชาติในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มีอิทธิพลกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคมโลก โดยมีรัฐบาลในประเทศด้อยพัฒนาทำการเปิดประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบนเส้นทางการค้าเสรี

            "โลกาภิวัฒน์" ไม่เพียงแต่จะเป็นการเอื้ออำนวยให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเคลื่อนย้ายการลงทุนเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดจากสิทธิพิเศษด้านต่างๆ และแรงงานราคาถูกแล้ว ยังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานที่มีลักษณะยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น สามารถกดขี่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานได้มากยิ่งขึ้น สิทธิมนุษยชนและสวัสดิการสังคมที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการแรงงานถูกบั่นทอนจนกระทั่งถูกทำลายลงไป

            รูปแบบการกดขี่เยี่ยงทาส ถูกยกระดับให้กลายเป็นสิ่งชอบธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ ภายใต้เหตุผลของกรอบความคิดของการค้าเสรี โลกาภิวัฒน์จึงเป็นเพียงมิติเดียวทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ

            ด้วยเหตุนี้ ขบวนการสหภาพแรงงาน องค์กรสิทธิมนุษยชน ในประเทศต่างๆ จึงได้นำเสนอและผลักดันให้มี มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นในระดับสากล ซึ่งถือว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ทางด้านสังคมและทางด้านจริยธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานเกี่ยวกับหลักจรรยาบรรณการค้า (Code of Conducts) การผลักดันให้องค์การค้าโลกจัดทำเงื่อนไขทางสังคม (Social Clause ) การให้สัตยาบรรณรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Conventions) เป็นต้น

            องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) เป็นองค์การสากลที่มีบทบาทในการยกระดับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2462 เป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์การเดียวที่ยืนหยัดมาได้กว่า 85 ปี ทั้งๆ ที่องค์การที่ตั้งคู่กันมาคือ สันนิบาตชาติถูกยกเลิกไปและเมื่อมีการก่อตั้งสหประชาชาติขึ้น องค์กรแรงงานนี้จึงกลายเป็นองค์กรชำนาญพิเศษองค์กรแรกของสหประชาชาติ

            ปัจจุบัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และ มีสำนักงานภูมิภาคตามทวีปต่างๆ ช่น ในเอเชียแปซิฟิค มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย นับได้ว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้พัฒนายกระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง มีอนุสัญญาและข้อแนะจำนวนมาก ที่ทำให้รัฐประเทศองค์กรสมาชิกนำไปยกระดับมาตรฐานแรงงานในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น

            แต่พอมาถึงยุคโลกาภิวัฒน์ในทุกวันนี้ มาตรฐานแรงงานกำลังถูกลดทอนและถูกทำลายลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การจ้างงานเหมาช่วง การเลิกจ้าง และการทำลายสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ได้พัฒนารูปแบบใหม่ของการจ้างงานที่ซ่อนเร้นและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

            การกำหนดให้มีมาตรฐานแรงงานระหว่าประเทศนั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้ฝ่ายคนงานได้เรียกร้องส่วนแบ่งที่ยุติธรรม จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะความจริงในทุกวันนี้ก็คือ การค้าเสรีนำมาสู่ความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับบรรษัทข้ามชาติในขณะที่ผู้ใช้แรงงานยากจนอดอยากเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นช่วงเวลาที่สภาวะความเป็นทาสกำลังหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากทีเดียว

            อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ถือเป็นอนุสัญญาหลัก ตามคำประกาศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศก็คือ ฉบับที่87 ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 29 และ 105 ว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับและการยกเลิกการใช้แรงงานบังคับ ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนสำหรับงานเหมือนกัน ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการกำจัดการเลือกปฏิบัติในการอาชีพและการจ้างงาน ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำการทำงาน

            อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ เป็นเพียงหลักปฎิบัติในลักษณะการจูงใจให้องค์กรรัฐของแต่ละประเทศปฎิบัติตาม แต่ไม่ได้มีกลไกเชิงบังคับหรือมีกลไกการลงโทษ หากเกิดการละเมิดหรือการไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ เพียงแต่เป็นเวทีทางสากลที่รัฐบางประเทศอาจถูกตั้งคำถาม ถูกประณามหรือถูกตำหนิจากที่ประชุมได้ ดังนั้นไอ แอล โอ จึงมีอิทธิพลในด้านของการส่งเสริม สนับสนุน มากกว่าการแทรกแซงหรือการกดดันโดยตรง

            สำหรับแนวทางการดำเนินงานของไอ แอล โอ จึงมุ่งเน้นการพูดคุยทางสังคม (Social Dialog) การให้สัตยาบรรณ (Ratification) การให้ข้อแนะนำ (Recommendations) การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและทางเทคนิค

            โครงสร้างของ ไอ แอล โอ เป็นแบบไตรภาคี ประกอบไปด้วย ตัวแทนฝ่ายคนงาน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และตัวแทนฝ่ายนายจ้าง โดยมีการประชุมในเดือนมิถุนายนของทุกปี มีประเทศสมาชิกอยู่ 178 ประเทศ

            รัฐบาลไทย เข้าเป็นภาคีสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การนี้เมื่อปี 2462 มีอนุสัญญาที่ตราขั้นแล้ว 185 ฉบับ และข้อแนะนำอีก 194 ฉบับ ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นเวลา 85 ปีแล้ว แต่ให้สัตยาบรรณรับรองเพียง 13 ฉบับเท่านั้น คือฉบับที่ 80 ,116, 104 , 105 ,127 , 14, 19 , 123, 29 ,88 ,122 , 100 , 182

            ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 138 คืออนุสัญญาว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่ยอมให้จ้างงานหรือทำงานชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัยหรือศีลธรรมของเยาวชน จะต้องกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี

            ในขณะที่อนุสัญญาหลักจำนวนมาก รัฐบาลไทยยังไม่ให้การรับรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือเป็นหัวใจในหลักประกันสิทธิเสรีภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าด้านประชาชิปไตยของประเทศนั้นๆ มี 142 ประเทศที่ให้การรับรองฉบับที่ 87 และ 154 ประเทศที่ให้การรับรองฉบับที่ 98 สำหรับในภูมิภาคเอเชียนั้น ประเทศต่างๆ ที่ให้การรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว อาทิ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ปากีสถาน และบางประเทศที่ให้การรับรองเฉพาะฉบับที่ 98 เช่น มาเลยเซีย สิงคโปร์ หรือพม่า ให้การรับรองเฉพาะฉบับที่ 87 เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น